ถึงแม้จะมีเสียงร่ำลือ เกี่ยวกับ BIM มากมาย และเริ่มเห็นว่าหลายๆโครงการเริ่มนำ BIM เข้ามาใช้
แต่ก็ไม่มีใคร สามารถบังคับคุณให้คุณต้องเริ่มต้นทำงานด้วย BIM หรือ Building Information Modeling ได้
แน่นอน ว่าถ้าคุณอยากทำ คุณก็เริ่มได้เลย แต่ถ้าเราเพิกเฉย ไม่สนใจ BIM ล่ะ ?? จะเกิดอะไรขึ้น ??
ในช่วง 2-3 วันแรก คุณอาจจะมองไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงหรอก คุณอาจจะรู้สึกดีด้วยซ้ำไป
ที่ไม่ต้องเพิ่มภาระงานให้กับตัวเอง แล้วก็ตั้งใจเคลียงานเดิมๆที่กองอยู่ โดยไม่ต้องสนใจคำว่า BIM
แต่สักพัก BIM มันจะตามมาหลอกหลอนคุณเอง…
ลองจินตนาการว่าคุณเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ชื่อ “สมปอง”
คุณเริ่มสังเกตว่าคนรอบๆตัวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และเปลี่ยนซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการทำงาน
พอยิ่งได้ดูเพื่อนๆรอบตัวทำงาน คุณก็จะรู้สึกว่า งานที่เราทำอยู่มันดูไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนที่เราเคยภาคภูมิใจเอาเสียเลย
คนรอบๆตัวคุณเริ่มออกแบบอาคารได้ดีกว่าคุณ ถอดปริมาณได้ไวกว่าคุณ ได้รับคำชมในการที่ทำงานได้ตรงตามเวลา
สามารถหาข้อมูลมาตอบเจ้านาย หรือเจ้าของโครงการได้ไวกว่าคุณ จาก information ที่อยู่ในรูปแบบของ 3D Model
และคนรอบตัวคุณเริ่มทำงานเข้าขากับปาร์ตี้อื่นได้มากขึ้น และดูหน้าชื่นตาบาน
ผ่านการทำงานแบบ Collaborative Modeling Information Sharing
คุณจะเริ่มสังเกตว่า เริ่มมีงานประมูลที่ต้องถามความสามารถในการทำงานในระบบ BIM ของผู้เข้าประมูลงานด้วย แล้วคุณก็ต้องโยนงานนั้น
ให้เพื่อนร่วมงานของคุณ ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน BIM และสามารถตอบคำถามลูกค้าได้มากกว่าคุณ
จากนั้นคุณรู้สึกตัวอีกทีว่าคุณได้เข้ามาทำงานในโครงการที่ลูกค้าของคุณมีความต้องการในผลลัพธ์ของงานที่เปลี่ยนแปลงไป
นั่นคือ ดีขึ้น แม่นยำขึ้น ไวขึ้น ลดปัญหาหน้างานได้มากขึ้น จากการทำงานด้วยระบบ BIM
ถ้าแย่กว่านั้นก็คือ คุณอดได้เข้าไปร่วมงานในโครงการที่คุณอยากทำ
เพียงเพราะโครงการนั้นต้องการคนที่มีความรู้ด้าน BIM เท่านั้น เพื่อให้ทีมทำงานได้เข้าขากัน
จากนั้นก็จะมี “ไอ้หน้าใหม่” มาจากที่ไหนไม่รู้ กระโดดคว้างานเอาไปทำ เพราะเค้าแค่มีประสบการณ์ด้าน BIM มากกว่าคุณ
คุณอาจจะได้ยินว่า “ไอ้พิทักษ์” ผู้ชายเสียงดังๆ น่ารำคาญ ที่ทำงานอยู่บนชั้น 4 ได้รับการเลื่อนขั้นก่อนคุณ ทั้งๆที่มาทำงานหลังคุณ
เพียงแค่เพราะ “ไอ้พิทักษ์” คนนั้น มีความรู้ด้าน BIM มากกว่าคุณ แล้วคุณก็เก็บมาจิตตก แล้วก็ได้แต่พร่ำบ่นให้คนอื่นฟัง
ถึงแม้ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้มันจะดูโหดร้าย แต่คุณก็ยังรู้สึกว่า “อย่างน้อยเราก็ยังมีงานทำในบริษัท ไม่ตกงานหรอก”
แต่ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นมาหน่อย ลองจินตนาการว่า คุณไม่ใช่ “สมปอง” แต่เป็น “บริษัท สมปอง”
และลูกค้าเก่าๆของคุณเริ่มติดใจการใช้บริการ “บริษัท พิทักษ์” เพราะตอบโจทย์การทำงานด้าน BIM ได้มากกว่า
ความโหดร้ายที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น พอมองเป็นภาพบริษัทแล้ว มันยิ่งฟังดูน่าสยดสยองมากขึ้นอีกไม่รู้กี่สิบเท่า
โอเค ช่วงแรกๆ บริษัท สมปอง อาจจะรู้สึกโล่งใจ ที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับ BIM
แต่สักพักความโหดร้ายที่รออยู่ตรงหน้ามันจะค่อยๆก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
8.00 น. เช้าวันจันทร์ จะมีโทรศัพท์โทรมาว่า โปรเจคที่คุณกำลังเสนอราคาไว้ และต้องได้นั้น โดนคู่แข่งเอาไปกินเสียแล้ว
เพราะคู่แข่งไม่ได้เสนอลูกค้าแค่ราคา แต่ยังมี value add เข้าไปด้วย นั่นก็คือการบอกว่า ลูกค้าจะได้ Building Asset
ที่สามารถไปสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าต่อได้ในอนาคตได้
9.00 น. มีโทรศัพท์มาบอกคุณว่าลูกจ้างมือดีของคุณ มาขอลาออก เพื่อย้ายไปทำงานในบริษัท ที่ผลักดันกระบวนการทำงานด้วย เทคโนโลยี BIM มากกว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างตึกที่สุดยอดให้กับลูกค้า
10.00 น. คุณเข้าประชุมกับทีมการเงิน และพบว่ารายงานผลกำไรที่ได้มานั้นน้อยนิดมาก ถึงแม้จะมีรายรับสูง แต่ค่าจ้างบุคลากรในการทำงานนั้นก็สูงตามไปด้วย อันเป็นเหตุมาจากไม่ได้ใช้เทคโนโลยี แต่ยังใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ซึ่งหลายอย่างพบว่าเป็นวิธีการทำงานที่ต้องทำงานซ้ำซาก และโอกาสผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์ มีสูง
แตกต่างกับบริษัทคู่แข่งของคุณที่ดูเหมือนต้องลงทุนสูงในตอนแรก และกำไรต่ำ แต่เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ทำงานด้วย BIM มากขึ้น บุคลากรมีความรู้ความสามารถในการดึงข้อมูลจาก BIM Model มาใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ไวขึ้น ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็สามารถสร้าง Productivity ได้มากขึ้น ในขณะที่ยังใช้ค่าจ้างบุคลากรเท่าเดิม
มีการค้นคว้าบางแห่งระบุว่า การทำงานด้วย BIM สามารถทำให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 20-25 %
สัปดาห์นึง ทำงาน 5 วัน หากสามารถทำงานเดิมๆ ด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้ 20-25 % ในทุกๆวัน
หากคำนวณดูแล้วก็จะพบว่า ใน 1 อาทิตย์ จะมีเวลาทำงานมากขึ้น 1 วัน
ซึ่งสามารถเอาเวลานั้นไปทำงานได้มากขึ้น ในขณะที่เจ้าของยังจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม เป็นผลให้รายรับมากขึ้น และมีกำไรมากขึ้น
และนอกจากนั้นยัง – มี Market Share ในตลาดมากขึ้น
– มีเงินทุนมาใช้ในการพัฒนามากขึ้น
– สามารถสร้าง และรักษาทีมงานที่ดีเอาไว้ได้
– กลายเป็นตัวเลือกแรกของลูกค้า
สำหรับใคร หรือองค์กรใด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงมาทำงานด้วย BIM หรือไม่ยอมรับว่า หลายๆสิ่งหลายๆอย่างจะเข้าสู่ยุคดิจิตอล
ก็ต้องยอมรับว่ามันยากๆมาก ที่จะทานกระแสการเปลี่ยนแปลงพวกนี้
บทความที่ผมเขียนขึ้นมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการมาทำให้คนหรือองค์ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงกลัว จนไม่กล้าขยับ
แต่ตรงกันข้าม ผมอยากให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณมัวแต่รอให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยน แต่คุณกลับเพิกเฉย
แทนที่จะมาจริงจังว่า ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ตามเรื่องพวกนี้ทัน (ฺBIM)
ผมอยากเห็นวงการก่อสร้างมีการพัฒนา และผมเชื่อว่า BIM จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
GOD BLESS YOU ALL 🙂